วันอังคารที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2554

เสือดำ

สำหรับนักอ่านชาวไทย เชื่อว่าไม่มีใครไม่รู้จัก ป. อินทรปาลิต ซึ่งเป็นนามปากกาของ ปรีชา อินทรปาลิต ป. อินทรปาลิต เริ่มการศึกษาที่โรงเรียนโสมนัสและเรียนต่อที่โรงเรียนนายร้อยฝ่ายประถมฯรุ่นเดียวกับ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ และเมื่อเรียนถึงชั้นปีที่สองฝ่ายชั้นมัธยมฯ เกิดความรู้สึกว่าไม่ชอบอาชีพทหาร จึงขอลาออกจากโรงเรียนนายร้อย แต่ระบุในอัตชีวประวัติของ ป.อินทรปาลิต ที่เขียนด้วยตนเอง เปิดเผยว่า เรียนโรงเรียนนายร้อย รุ่นเดียวกับ จอมพลถนอม กิตติขจร และ มี จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นรุ่นพี่ และตนเองเรียนตกซ้ำชั้น 2 ปี เพราะต้องการรอเรียนกับเพื่อน เลยต้องรีไทร์จากโรงเรียนนายร้อย จึงหันมาจับปากกาเป็นนักเขียน


ซึ่งผลงานเขียนที่โด่งดัง ป.อินทรปาลิต มีมากมายหลายเรื่อง แต่ที่ได้รับการกล่าวขวัญถึงมาจวบจนทุกวันนี้คือ ผลงานเรื่อง นักเรียนนายร้อย,เสือดำ- เสือใบและงานเขียนชุดสามเกลอ พล นิกร กิมหงวน ที่ถือว่าเป็นสุดยอดงานเขียนที่หานักเขียนไทยคนใดเทียบเท่าได้



แต่สำหรับผลงานเขียนที่อยากจะรำลึกถึงคือ ผลงานนวนิยายเรื่องเสือใบและเสือดำ เป็นนวนิยายที่เขียนขึ้นจากเค้าโครงชีวิตจริงของสองเสือผู้ยิ่งใหญ่ในอดีตที่มีอยู่ สี่เสือแดนสยามคือ เสือใบ, เสือดำ, เสือฝ้าย และ เสือมเหศวร



สำหรับเรื่องราวของเสือดำนั้นนอกจากจะมีนวนิยายของ ป.อินทรปาลิตแล้ว เมื่อไม่นานมานี้ พล.ต.ต.พีระพงศ์ ดามาพงศ์ ซึ่งถือว่าเป็นแฟนพันธุ์แท้ของ ป.อินทรปาลิต ยังได้รวบรวมปกหนังสือและภาพวาดประกอบอันสวยงามวิจิตร ซึ่งเป็นผลงานของ อาภรณ์ อินทรปาลิต มาเขียนเล่าเรื่องในหนังสือชุด "เสือดำ" ซึ่งเป็นการรวบรวมภาพของนวนิยายบู๊ โลดโผนเรื่อง "เสือดำ" เป็นบทประพันธ์ของ ป.อินทรปาลิต ที่วาดโดย จิตรกรคู่ใจ ซึ่งเป็นน้องแท้ๆของ ป.อินทรปาลิต เป็นจำนวนถึง 82 ปก มาใช้อย่างสมบูรณ์ในเล่มเสือดำ ซึ่งนับเป็นการยากที่จะมีใครเคยรวบรวมครบถ้วนบริบูรณ์ทั้งชุดเช่นนี้




หนังสือเล่มนี้ของ พล.ต.ต.พีระพงศ์ ที่นำภาพปกทั้ง 82 ปก ของนวนิยายเสือดำมาโชว์แล้วยังเขียนถ่ายทอดบรรยากาศยุคสมัยเมื่อห้าสิบกว่าปีก่อน ในภาพทุกภาพเสือดำเป็นนวนิยายที่โด่งดังจากปลายปากกาของ ป.อินทรปาลิต เมื่อครั้งสงครามโลกครั้งที่ 2 ยุติลงใหม่ๆ นับว่าเป็นโอกาสดี ซึ่งท่านจะได้เป็นเจ้าของผลงานชิ้นนี้




สำหรับชีวิตจริงของเสือดำ ผู้เป็นจอมโจรชื่อดังในสมัยหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ร่วมสมัยกับ เสือใบ, เสือฝ้าย และ เสือมเหศวร มีชื่อจริงว่า ระพิน ได้ชื่อว่าเสือดำ จากการสวมชุดดำเวลาออกปล้น และใช้ปืนคู่ แต่เมื่อเวลาออกปล้นจะต้องประกาศให้เจ้าทรัพย์รู้ก่อนล่วงหน้าเป็นสัปดาห์และปล้นด้วยความสุภาพ นิยมปล้นแต่คนรวยให้คนยากจน จนได้รับฉายาว่า สุภาพบุรุษเสือดำ เช่นเดียวกับ เสือใบ




เสือดำ ถูกปราบได้ด้วย ขุนพันธรักษ์ราชเดช นายตำรวจมือปราบชื่อดัง โดยขุนพันธ์ฯ ให้โอกาสเสือดำกลับตัว เสือดำจึงไปบวชกับ พลตำรวจเอกประเสริฐ รุจิรวงศ์ อธิบดีกรมตำรวจในยุคนั้น และบวชมาจนบัดนี้


ปัจจุบัน เสือดำ คือ หลวงพ่อทวีศักดิ์ ชุตินธโร เจ้าอาวาสวัดศรีนวลธรรมวิมล เขตหนองแขม กรุงเทพมหานคร อายุกว่า 80 แล้ว แต่สุขภาพก็ยังแข็งแรงอยู่ และมักได้รับเชิญเป็นประธานในพิธีปลุกเสกวัตถุมงคลร่วมกับ เสือใบ และ เสือมเหศวร เสมอๆ



เรื่องราวของเสือดำ ถูกนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์ครั้งหนึ่งในปี พ.ศ. 2543 ในเรื่อง "ฟ้าทะลายโจร" โดยผู้รับบทเสือดำ คือ ชาติชาย งามสรรพ์


ท่านได้เมตตาเปิดเผยกับทีมข่าว "คนในเมืองน้ำหมึก" ว่า "ความจริงแล้วท่านไม่เคยคิดจะเป็นโจรเลยแม้แต่น้อย ไม่เคยคิดจะเข้ามาในวงการโจร แต่มีความจำเป็น ไม่มีทางเลือก โดยประมาณปี 2490 มีโจรก่อเหตุเป็นจำนวนมาก ขณะนั้นอายุ 20 กว่าปี เป็นวัยรุ่นไฟแรงคึกคะนอง แต่ไม่เคยสร้างความเดือดร้อนให้ใคร กระทั่งที่บ้านมาถูกโจรปล้นควายไปจนหมดคอก ไม่เหลืออะไรแม้แต่เงินจะซื้อข้าวกิน จึงปรึกษาเพื่อนๆไปแก้แค้นเพราะทราบว่าโจร คือ กลุ่มวัยรุ่นหมู่บ้านข้างเคียง โดยยิงวัยรุ่นกลุ่มนั้นตายไป 4 ศพ จึงถูกตำรวจติดตามตัว ต้องหนีออกจากบ้าน แล้วเริ่มออกปล้นชาวบ้านใน จ.สุพรรณบุรี ตั้งแต่นั้นมา"..... และแน่นอนว่า เรื่องราวในนวนิยายเรื่องเสือดำก็ไม่ตรงกับชีวิตจริงของท่านทั้งหมด เพราะเป็นเพียงการหยิบเอาเค้าโครงมาผูกเรื่องใหม่เท่านั้นเอง




"เสือดำ" ซึ่งปัจจุบันหันหน้าสู่ "ร่มผ้าเหลือง" บวชเป็นพระได้ฉายาว่า "หลวงพ่อทวีศักดิ์ ชุตินฺธโร" ดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าอาวาสวัดศรีนวล ย่านหนองแขม ยังย้อนให้ฟังถึงจุดเริ่มต้นของการก้าวเข้าสู่ "เส้นทางแห่งชุมโจร" ต่อไปอีกว่าหลังจากออกปล้นเรื่อยมาจนมาพบกับ "เสือมเหศวร" และ "เสือใบ" ซึ่ง "หัวอกเดียวกัน" เพราะทั้งสองถูกโจรปล้นบ้านและต้องการแก้แค้น จึงปรึกษากันว่าจะทำอย่างไร ขณะนั้น "สมุน" ยังไม่มี จึงแยกทางกันไป "สร้างชื่อ"เพื่อหาลูกน้อง จนมีลูกน้องติดตาม 50-60 คน จึงตั้งเป็น "ซุ้มเสือดำ"!!!

เมื่อบ้านมีกฎบ้าน เมืองมีกฎเมือง "ชุมโจร" ก็มีกฎของชุมโจร....."หลวงพ่อทวีศักดิ์" เล่าว่า ในการปล้นของเสือดำมี "กฎเหล็ก" ว่าจะปล้นแบบ "ผู้ดี" คือ จะออกปล้นช่วงต้นเดือนและปลายเดือนเท่านั้นและ ก่อนเข้าปล้นจะเขียนป้ายไปติดไว้หน้าหมู่บ้านที่จะปล้น เป็นการประกาศล่วงหน้าว่าจะปล้นที่ไหน วันและเวลาใด เพื่อให้เจ้าทรัพย์เตรียมตัวไว้ก่อน เมื่อถึงเวลาก็มาปล้น สมัยนั้นใช้ม้าเป็นพาหนะ มีปืนคู่กายคนละ 2 กระบอกและกระสอบใส่ทรัพย์สินคนละใบ ก่อนลงมือจะยิงปืนขึ้นฟ้า 3 นัดเป็น "สัญญาณเตือน" ให้คนในหมู่บ้านรู้ว่ามาปล้นแล้ว จากนั้นจะนำกระสอบไปวางไว้ตามจุดต่างๆเพื่อให้ชาวบ้านนำทรัพย์สินมาใส่ เป็นการป้องกันเหตุ "นองเลือด" เวลาทำงาน หรือ "ฤกษ์ปล้น" คือ ตั้งแต่แสงอาทิตย์ลับขอบฟ้า จนถึงแสงอาทิตย์ขึ้นเหนือฟ้าอีกครั้งก็เก็บกระสอบกลับออกไป




"กฎเหล็กสำคัญที่สุดของซุ้มเสือดำ คือ ห้ามข่มขู่หรือทำร้ายเจ้าทรัพย์ นอกจากเจ้าทรัพย์จะฮึดสู้ทำร้ายเราก่อน นอกจากนั้นสมุนทุกคนต้องอยู่ในศีลธรรม ห้ามยุ่งเกี่ยวกับสาวในหมู่บ้าน ห้ามปล้นโรงสีข้าวเด็ดขาด เพราะจะทำให้เราไม่มีข้าวกิน ห้ามปล้นตลาดสด เพราะเป็นจุดรวมของเด็ก คนแก่และคนทั่วไป ถ้าพบลูกน้องคนใดทำผิดกฎจะฆ่าทิ้งทันที เพราะถือว่าผิดสัจจะของกลุ่มโจร ส่วนทรัพย์สินที่ปล้นมาจะแบ่งเป็น 5 ส่วน คือ 1. ค่าอาหาร 2. ค่ากระสุนปืน 3. แบ่งไว้ช่วยเหลือคนจน 4. ช่วยเหลือโรงเรียน และ 5. ช่วยเหลือวัด....."




".....พื้นที่ปล้นของเสือดำจะอยู่ใน 3 จังหวัด คือ อุทัยธานี, สุพรรณบุรี และ ชัยนาท โดยจะแบ่งเขตกันระหว่าง เสือใบ และ เสือมเหศวร ช่วงว่างจากการปล้นจะพาลูกน้องเข้าป่าตัดต้นไม้ไปสร้างบ้านให้คนจนฟรี เพื่อตอบแทนคุณ พร้อมทั้งมอบวัวที่เราปล้นมาให้อีกครอบครัวละ 1 คู่" อดีต "เสือดำ" เล่าถึงเส้นทางสายโจรที่รุ่งโรจน์ของเขา ซึ่งพฤติกรรมดูคล้าย "โรบินฮูด"




"เส้นทางสายโจร" ของ "เสือดำ" และเหล่าสมุน รุ่งโรจน์ และโรยด้วยกลีบกุหลาบมาตลอด จนกระทั่งการมาถึงของ "ขุนพันธ์ฯ" เส้นทางสายโจรของพวกเขาก็เริ่มตีบตัน.....อดีต "เสือดำ" เล่าถึงชีวิตในช่วงต่อมา ว่า ช่วงปี 2495-2499 ทางการเริ่มปราบปรามกลุ่มโจรอย่างหนักทำให้ 3 เสือ คือ "เสือดำ-เสือใบ-เสือมเหศวร" เป็นที่ต้องการตัวของทางการมาก มี "ค่าหัว" คนละหลายหมื่นบาท การปล้นเริ่มมีอุปสรรค บางครั้งถึงขั้นต้อง "ดวลปืน" กับตำรวจ แต่ก็อยู่รอดปลอดภัยมาตลอดเพราะมีวิชา "อาคม" ที่เรียนรู้มาจากครูบาอาจารย์ จนมาวันหนึ่งเรามีโอกาสได้ดวลปืนกับ "ขุนพันธ์ฯ" ที่ยกกำลังมาดักจับที่ จ.ชัยนาท และวันนั้นก็ทำให้เรา "กลับใจ"



"ครั้งนั้นต่างคนต่างมีวิชาอาคมทั้งคู่ ทำอะไรกันไม่ได้ และตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาขุนพันธ์ฯ ก็นำกำลังออกไล่ล่าดวลปืนกันอีกหลายครั้ง จนสุดท้ายขุนพันธ์ฯ ได้นัดคุยกันอย่างลูกผู้ชายกับเราว่าต่างคนต่างมีอาคม คงทำอะไรกันไม่ได้ จึงขอให้เราเลิกเป็นโจร หยุดปล้น ถ้าหยุดตำรวจจะยกเลิกการจับกุมทุกหมายจับ แต่ต้องกลับตัวเป็นคนดีและเริ่มต้นชีวิตใหม่ เรากลับมานอนคิดอยู่ 3 วัน เราปล้นมา 20 ปี ไม่มีอะไรดีขึ้น จึงตัดสินใจหยุดเป็นโจร แบ่งเงินให้ลูกน้อง แล้วแยกย้ายกันไปทำมาหากินอย่างถูกกฎหมาย เราได้ออกบวชศึกษาธรรมะ เพื่อหวังว่าบุญจากการบวชจะทดแทนสิ่งที่ได้ทำผิดไปได้บ้าง" หลวงพ่อทวีศักดิ์ อดีต "เสือดำ" กล่าวทิ้งท้าย




"ปัจจุบันหลวงพ่อเสือดำ เป็นพระเกจิอาจารย์ที่ได้รับการเคารพนับถือด้านคาถาอาคมที่มีวิชาแก่กล้า และเปี่ยมด้วยความมีเมตตา ท่านอายุ 99 ปีแล้วและมีสุขภาพที่แข็งแรงดี ยังคงมุ่งมั่นทำงานเพื่อสังคมและพุทธศาสนา ท่านสร้างทั้งโรงเรียน, โรงพยาบาล เพื่อช่วยเหลือประชาชนผู้ยากไร้มากมายนับเป็นการปิดฉากตำนาน "เสือดำ" เสือร้ายแห่งแดนสยามให้เหลือเพียงแค่ในความทรงจำเท่านั้น




แต่ถ้าใครอยากโลดแล่นไปในโลกแห่งจินตนาการของชีวิตจอมโจรเสือดำ คงจะหาอ่านได้ในผลงานของ "ป.อินทรปาลิต'' และผลงานของ พล.ต.ต.พีระพงศ์ ดามาพงศ์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น